วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

ความหมายคำว่า “ศาสนา”

1.1 ความหมายและคำกำจัดความ ของคำว่า “ศาสนา”




ก่อนที่จะกล่าวถึงพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาสนาหลัก 5 ประเด็น คือ


1. ความหมายของศาสนา 2. องค์ประกอบของศาสนา 3. มูลเหตุให้เกิดศาสนา


4. ประเภทของศาสนา 5. ประโยชน์ของศาสนาหรือความจำเป็นที่ต้องมีศาสนา


ความหมายของศาสนา


คำว่า “ศาสนา” มาจากคำว่า สาสนัง ในภาษาบาลี และศาสนัง ในภาษาสันสกฤต แปลว่า คำสั่งสอน คำนี้ในพระไตรปิฎก หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง ไม่เหมือนกับความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ในปัจจุบันคำว่าศาสนา มีลักษณะเป็นองค์การหรือสถาบันชนิดหนึ่ง


ในโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงในที่ประชุมสงฆ์ จาตุรงคสันนิบาต คำว่า ศาสนา หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดังพระบาลีว่า


สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา


สะจิตตะปริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสะนัง


การไม่ทำบาปทั้งปวง 1 การบำเพ็ญความดีให้บริบูรณ์ 1 การชำระจิตใจให้ผ่องแผ้ว 1 นี่คือศาสนา (คำสั่งสอน) ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของศาสนาไว้ว่า


“ศาสน, ศาสนา (สาสะนะ, สาตสะหนา) น. ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์ อันมีหลัก คือ แสดงกำเนิด และความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่งแสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาป อันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลิทธิพิธีที่กระทำตามความเห็น หรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อนั้นๆ”


ในหนังสือ “ศาสนาคืออะไร” ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายไว้ว่า


“ศาสนา คือ ตัวการประพฤติ กระทำเพื่อให้คนรอดพ้นจากภัย หรือ อันตราย หรืออันไม่พึงปรารถนา ซึ่งรวมเรียกว่า ความทุกข์ เดือดร้อน ทรมาน...”


อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้สรุปความหมายของศาสนาไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ศาสนา” ว่า


1. ศาสนา คือ ที่รวมแห่งความเคารพนับถืออันสูงสุดของมนุษย์


2. ศาสนา คือ ที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากย่อมเลือกยึดเหนี่ยวตามความพอใจ และตามความเหมาะสมแก่เหตุแวดล้อมของตน


3. ศาสนา คือ คำสั่งสอน อันว่าด้วยศีลธรรมและอุดมคติสูงสุดในชีวิตของบุคคล รวมทั้งแนวความเชื่อ และแนวการปฏิบัติต่างๆ กัน ตามคติของแต่ละศาสนา


พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ในหนังสือ “ลัทธิและนิกาย” ว่า


“ศาสนา แปลว่า คำสั่งสอน คือ หมายถึงหลักการใดก็ตามที่มีทั้งคำสั่ง และคำสอน ในพระพุทธศาสนานี้มีอยู่ครบ คือ มีคำสอนให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร สอนให้รู้ความจริงคืออะไร สอนให้รู้ว่าชีวิตคืออะไร มาด้วยเหตุใด สอนจนกระทั่งรู้ดีรู้ชั่ว แล้วเมื่อสอนก็มีคำสั่งด้วย สั่งว่าความปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูก จึงจะชอบ...”


กล่าวโดยสรุป หากเราไม่มองในรูปขององค์การหรือสถาบันแล้ว ศาสนาได้แก่ ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติตาม ความเชื่อนั้นเพื่อให้ตนรอดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล เพราะการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้น เป็นทั้งหลักการและเป็นทั้งจุดมุ่งหมายของศาสนา อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของคำว่า “ศาสนา” ได้ครบถ้วนชัดเจนจึงจำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบของศาสนาด้วย


1.2 องค์ประกอบของศาสนา


เกี่ยวกับองค์ประกอบของศาสนาได้มีผู้กล่าวไว้แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยหลักใหญ่ก็มีลักษณะเหมือนๆ กัน เช่น กลุ่มผู้วิจัยศาสนาและความเชื่อถือ ตามโครงการวิขัยพื้นฐานจิตใจของประชาชนชาวไทย สาขาปรัชญา สภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งได้ประชุมกัน ครั้งที่ 2/2506 ไดตกลงกันว่า ศาสนาต้องประกอบด้วยลักษณะทั้งหมด หรือส่วนมากดังต่อไปนี้


ก. มีศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนา ข. มีคำสอนเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา


ค. มีหลักความเชื่อถืออันเป็นที่หมาย ง. มีพิธีกรรม จ. มีสถาบันทางศาสนา


องค์ประกอบทั้ง 5 ข้อนี้ไม่จำเป็นว่าศาสนาต้องมีครบ อาจจะขาดไปบ้าง แต่ต้องมีเป็นส่วนมาก เช่น ศาสนาฮินดู และศาสนาชินโต ไม่ปรากฏว่ามีศาสดา หรือศาสนาขงจื้อไม่มีนักบวช แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ ครบ


อย่างไรก็ตาม เพื่อสะดวกต่อการอธิบายถึงองค์ประกอบของพระพุทธศาสนาในบทต่อๆ ไป ในที่นี้จะกล่าวถึงองค์ประกอบของศาสนา 5 ประการ เช่นกันคือ


1. ศาสดา คือ มีผู้ก่อตั้งศาสนา หรือผู้ทำหน้าที่สั่งสอนมาแต่เดิม


2. ศาสนธรรม คือ มีคำสั่งสอนอันเป็นหลักศีลธรรม หรือหลักปฏิบัติ ปรากฏในรูปคัมภีร์ต่างๆ


3. ศาสนทายาท หรือศาสนิกชน คือ ผู้สืบต่อศาสนา ผู้ยอมรับนับถือ และปฏิบัติตาม ศาสนธรรมของแต่ละศาสนา


4. ศาสนสถาน และศาสนวัตถุ อันได้แก่ปูชนียสถาน เช่น วัด โบสถ์ สุเหล่า อันเป็นสถานที่ประกอบทางพิธีกรรมทางศาสนา ปละปูชนียวัตถุ เช่น พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ ไม้กางเขน ธงสัญลักษณ์ เป็นต้น


5. ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมที่ศาสนิกชนในแต่ละศาสนายึดถือปฏิบัติ เช่น พิธีอุปสมบท การถือศีลอด เป็นต้น


1.3 มูลเหตุให้เกิดศาสนา


โดยทั่วไปศาสนาทั้งหลายเกิดจากศรัทธาความเชื่อ และปสาทะความเลื่อมใส แต่จะเป็นความเชื่อ ความเลื่อมใสที่ประกอบด้วยปัญญา หรือประกอบด้วยอวิชชานั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณา ศาสนาใดที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ศาสนานั้นก็สามารถทนต่อการพิสูจน์ และดำรงอยู่ได้นาน ส่วนศาสนาใดตั้งอยู่บนความเชื่อที่ประกอบด้วยอวิชชา ศาสนานั้นก็ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ และเสื่อมสูญไปในที่สุด หากแยกมูลเหตุให้เกิดศาสนาตามวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ก็สามารถแยกได้ดังนี้


เกิดจากความกลัว


อวิชชา คือ ความไม่รู้ ได้แก่ ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล มนุษย์ในสมัยแรกๆ ไม่มีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ เมื่อประสบกับเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า มืด สว่าง ไฟไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ ก็คิดว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นมีผู้ดลบันดาลให้เกิดขึ้น ก่อให้เกิดศาสนานับถือเทพเจ้าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆขึ้น เช่น พระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระอัคนี พระพิรุณ ฯลฯ อันเป็นศาสนาในชั้น แรกๆ ของมนุษย์


เกิดจากความกลัว มูลเหตุข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อแรก คือ เมื่อมนุษย์มีอวิชชาปิดบัง ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผลเสียแล้วครั้นประสบภัยกับธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ ก็เกิดกลัวภัย กลัวอันตรายอันเกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น เมื่อความกลัวมีมากขึ้นก็หาวิธีการระงับความกลัวด้วยการสวดอ้อนวอนสรรเสริญ เช่น สรวง บูชา ซึ่งสามารถระงับภัยเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ช่วยให้มนุษย์มีความเบาใจ สบายใจขึ้น เป็นมูลเหตุให้เกิดศาสนานับถือเทพผู้ดุร้าย หรือนับถือผี นับถือวิญญาณขึ้นในภายหลัง


เกิดจากความจงรักภักดี หนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ “ความภักดี” ไว้ว่า หมายถึง “ความเลื่อมใส ความจงรัก ความนับถือ” คือ เชื่อ ชอบ เคารพ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความไว้ใจ วางใจต่อสิ่งที่ตนเชื่อ ชอบ เคารพนั้นว่ามีศักดิ์ศรี หรือศักดิ์สิทธิ์ สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนได้ ขจัดปัดเป่าความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนได้


เกิดจากปัญญา ปัญญา คือ ความรู้เหตุ รู้ผล รู้สภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง โดยสรุปคือ รู้ทุกข์รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และรู้วิถีทางให้เข้าถึงความดับทุกข์นั้น


มูลเหตุให้เกิดศาสนาข้อนี้ได้แก่พระพุทธศาสนา เจ้าชายสิทธัตถะทรงคิดว่า ชีวิตนี้มีเวลาน้อย ตั้งอยู่บนกองทุกข์ และเป็นชีวิตที่ได้ทำประโยชน์แก่ตนเอง แก่สังคม และแก่โลก ไม่ตายไปเปล่าๆ โดยไร้ประโยชน์ เมื่อทรงคิดดังนี้จึงได้เสด็จออกบวช เพื่อแสวงหาความรู้แจ้งในชีวิต และเพื่อแสวงหาวิธีทางดับทุกข์


ประเภทของศาสนา


ศาสนาที่ชาวโลกนับถือในปัจจุบันมีอยู่ 11 ศาสนา คือ ศาสนาชินโต ศาสนาขงจื้อ ศาสนาเต๋า ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ศาสนาสิกข์ ศาสนายิวหรือยูดาย ศาสนาโซ โรสเตอร์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ศาสนาที่กล่าวมา ท่านแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ


1. ศาสนาเทวนิยม (Theism) ได้แก่ ศาสนาที่สอนให้เชื่อ ให้นับถือพระผู้เป็นเจ้า และอิทธิฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า แยกออกเป็น 2 ตามจำนวนของพระผู้เป็นเจ้าที่นับถือ


1.1 เอกเทวนิยม (Monotheism) เชื่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว เช่น คริสต์ อิสลาม


2.1 พหูเทวนิยม (Polytheism) เชื่อพระพุทธเป็นเข้าหลายพระองค์ เช่น ฮินดู โซโรสเตอร์


2. ศาสนาอเทวนิยม (Atheism) ได้แก่ ศาสนาที่ไม่สอนให้เชื่อ ให้นับถือพระผู้เป็นเจ้าไม่สอนให้เชื่ออิทธิฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่สอนเรื่องชีวิต และการแก้ปัญหาชีวิตด้วนตนเอง มีพระพุทธศาสนา และศาสนาเชน


1.4 ความจำเป็นทีต้องมีศาสนา


ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยทีมีความคิดว่า ศาสนาไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน บางคนที่เห็นว่าศาสนามีความจำเป็นอยู่บ้าง ก็จัดไว้ในอันดับท้ายสุด สิ่งที่คนส่วนมากมุ่งมั่นและแสวงหา คือ เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา ชื่อเสียงเกียรติยศ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าชีวิตของทุกคนวันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน โดยเริ่มการแข่งขันตั้งแต่เด็ก ๆ คือ แข่งขันหาสถานศึกษาที่ศึกษาเล่าเรียนที่คิดว่าดี แข่งกันเรียน แข่งกันหางานทำเพื่อหาเงินทอง เพื่อสนองความต้องการทางกาย เพื่อความร่ำรวย ตลอดจนแข่งขันกันแสวงหาอำนาจ แสวงหาเกียรติยศ ชื่อเสียง ไม่ค่อยมีคนสนใจเรื่องจิตใจ เรื่องศาสนา ท่านพุทธ ทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาลาม จึงได้กล่าวเตือนสติผู้ที่มุ่งการศึกษาเพื่อจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจว่า “การศึกษาหมาหางด้วน”


หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า เรื่องเศรษฐกิจก็ดี เรื่องสังคมก็ดี เรื่องการเมืองก็ดี เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยศาสนา เกี่ยวข้องกับศาสนาทั้งสิ้น เพื่อความเข้าใจแจ่มชัดในเรื่องนี้ จะได้อธิบายความจำเป็นของศาสนา โดยแยกให้เห็นตามความต้องการของมนุษย์


นักสังคมวิทยาได้แยกความต้องการของมนุษย์ออกเป็นส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ


1. ความต้องการทางร่างกาย 2. ความต้องการทางสังคม 3. ความต้องการทางจิตใจ


1.5 พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนทั้งหมดของข้าเจ้า ซึ่งมีหลักการทีเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ (คำสั่งสอนอันเป็นหลัก) โดยสรุป 3 ประการ คือ การไม่ทำความชั่วทุกอย่าง ทำความดีให้บริบูรณ์ ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ นี่คือ พุทธศาสนา (พุทธานะสาสนัง)


ถ้าพิจารณาแยกตามความหมายของศัพท์ ก็แยกออกเป็น พุทธ คำหนึ่ง ศาสนา คำหนึ่ง คำว่า พุทธ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงใช้ภายหลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว มีความหมายว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ส่วนคำว่า ศาสนา หมายถึง คำสั่งสอนทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเป็นเวลา 45 ปี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ได้ทรงมีพระราชดำรัสในที่ประชุมใหญ่ของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ความตอนหนึ่งว่า “…คำว่าศาสนา ตามที่ใช้ทุกวันนี้ เป็นที่เข้าใจว่า ตรงกับคำว่า Religion ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงคำสั่งสอนที่มาจากเบื้องบน อันยุติได้ว่าถูกต้องเที่ยงแท้แล้ว จึงทำตามได้ทีเดียว ถ้าว่าตามนี้พระพุทธศาสนาก็ไม่เข้าหลักเป็นศาสนา เพราะเนื้อหาสาระและกฎเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการค้นหาความจริงของชีวิตด้วยปัญญามนุษย์ พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติเพื่อที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุอย่างไรเพียงใด ก็ได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น หากจะถามว่าพระพุทธศาสนาเป็นอะไร ก็ต้องตอบว่าโดยเนื้อหาก็เป็นเรื่องความจริงของชีวิต พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาโดยวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุผล พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์หรือพูดให้ชัดลงไปอีกก็เป็น “วิทยาศาสตร์” เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า การสอนพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องคือ การสอนให้คนสามารถพิจารณาค้นหาหลักธรรมจากชีวิต และนำหลักธรรมนั้นมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์…”

เพื่อความเข้าใจแจ่มชัดตามพระราชดำรัสนี้ จึงนำลักษณะของศาสนาตามความเข้าใจของชาวตะวันตก และลักษณะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาไว้ดังนี้


ศาสนาตามความเข้าใจของนักการศาสนาตะวันตก มีลักษณะ 4 ประการ คือ


1. มีหลักความเชื่อเป็นเบื้องต้นว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก


2. มีหลักความเชื่อว่า คำสั่งสอนต่างๆ มาจากพระเจ้า ไม่ได้มาจากการค้นหาความจริงด้วยปัญญาของมนุษย์


3. มีหลักความเชื่อเป็นหลักอจินไตย (สิ่งที่ไม่ควรคิด) ให้เชื่อไปตามคำสั่งสอน คือ ให้เชื่อไปตามคำสั่งสอน ทุกอย่างถูกต้องเที่ยงแท้แล้ว ปฏิบัติตามได้เลย ไม่ต้องคำนึงถึงข้อพิสูจน์


4. มีลักษณะการยอมมอบตน มอบการกระทำของตน และทุกสิ่งให้แก่พระผู้เป็นเจ้าด้วยความจงรักภักดี คือ ยอมมอบเสรีภาพของตนให้แก่พระผู้เป็นเจ้า


ส่วนพระพุทธศาสนา คือ ยอมมอบเสรีภาพของตนให้แก่พระผู้เป็นเจ้า


1. มีหลักความเชื่อว่า กรรมเป็นผู้สร้างโลก และสรรพสิ่งในโลก (กัมมานุ วัตตตี โลโก)


2. มีหลักความเชื่อ หลักคำสั่งสอนต่างๆ มาจากปัญญาของมนุษย์ (คือพระพุทธเจ้า)


3. มีหลักความเชื่อเป็นจินไตย (สิ่งที่ควรนำมาคิด) คือให้คิดไตรตรองให้รอบคอบเสียก่อนแล้วค่อยเชื่อ


4. มีหลักการมอบตนให้แก่ตนเอง ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง (อัตตาหิ อัตตโน นาโถ)


ในหนังสือ “คู่มือมนุษย์” (ฉบับสมบูรณ์) ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายของพระพุทธศาสนาไว้ว่า “พุทธศาสนา คือ วิชา และระเบียบปฏิบัติสำหรับให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร”


ระเบียบปฏิบัติ สำหรับให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ย่อมเป็นการปฏิบัติเพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง ได้แก่ รู้ชัดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้ชัดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างชัดเจนแล้ว นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) วิราคะ (ความคลายกำหนัด) และวิมุตติ (ความหลุดพ้น) ย่อมเกิดขึ้น


จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน ความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง อริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่ว่าด้วยเรื่องทุกข์ และความดับทุกข์ เป็นหลักคำสอนที่สำคัญยิ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 เป็นปฐมเทศนา อย่างแจ่มชัด จึงได้ทรงปฏิญาณว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธะ ทรงเลือกอริยสัจ 4 เป็นปฐมเทศนา แสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ยิ่งกว่านั้นอริยสัจ 4 ยังเป็นหลักธรรมที่สำคัญที่คลอบคลุมคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา


เรื่องอริยสัจ 4 ก็เป็นระเบียบปฏิบัติ สำหรับให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ได้แก่ให้รู้ว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ แลอะไรคือข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์นั้น


สมัยนั้น พระสารีบุตร เมื่อครั้งยังไม่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ได้พบพระอัสสชิ พระสารีบุตรจึงขอให้ท่านแสดงธรรม พระอัสสชิได้กล่าวทำนองว่า ท่านเป็นคนใหม่ บวชไม่ยานพึ่งมาสู่ พระธรรมวินัยนี้ มีความรู้น้อยไม่สามารถแสดงธรรมให้ลึกซึ้งพิสดารได้ พระสารีบุตรจึงได้ขอให้ท่านแสดงใจความของพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุด ย่อที่สุด ท่านจึงได้แสดงหวัวใจของพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่า พระคาถาของพะอัสสชิว่า


เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต, เตสัญจะโย นิโรโธ จะ เอวังวาที มะหาสะมะโณ


แปลว่า “สิ่งทั้งหลายเหล่าใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้นและแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้นเพราะหมดเหตุ พะมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้”


ใจความสำคัญของพระคาถานี้ก็คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรมล้วนมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น มิได้เกิดขึ้นเองลอยๆ หากต้องการให้สิ่งเหล่านั้นดับก็ต้องดับที่ เหตุ เช่น จะดังความทุกข์ คนโดยทั่วไปคิดว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ก็พยายามหาทางดับทุกข์ขึ้นแต่ละอย่างๆ ไป ดับอย่างไรก็เกิดอีก หรือดับไม่หมดเสียทีที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะเราดับที่ตัวทุกข์ อันเป็นตัวผล พระพุทธเจ้าท่านตรัสต้องดับที่ตัวเหตุ คือเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด อันได้แก่ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น (ในสิ่งที่ตนไม่ปรารถนา) ซึ่งรวมเรียกว่า ตัณหา ความอยาก ความต้องการ เพราะฉะนั้นจะดับทุกข์ ก็ต้องดับหรือหยุดความอยาก ทำความอยากอันเป็นตัวเหตุให้ดับให้หยุด ข้อนี้ก็เป็นระเบียบปฏิบัติให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไรอีกเหมือนกัน


รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ได้ให้ความหมายของพุทธศาสนาไว้ว่า “พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า เป็นประมลความรู้ทางสาสนาระบบหนึ่ง” ประมวลความรู้ทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยสิ่งสำคัญ 4 ประการด้วยกันคือ


ก. ธรรมชาติของชีวิต ข. ธรรมชาติของจักรวาล


ค. จุดมุ่งหมายของชีวิต ง. ทางไปสู่จุดมุ่งหมายของชีวิต


จุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา


เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าแล้ว ได้ทรงชักจูงผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้สละเพศฆราวาสออกบวชมาศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมของพระองค์ เมื่อได้ปฏิบัติธรรมจนตนเองพ้นจากบ่วง คือ กิเลสตัณหาแล้ว ก็ช่วยกันเผยแพร่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยการจาริกไปทุกถิ่นที่ เข้าถึงประชาชนทุกชั้นทุกวรรณะ เป็นการช่วยให้ชาวโลกที่ยังไม่รู้ได้รู้เป็นการปลุกชาวโลกที่หลับไหลให้ตื่น ให้เบิกบาน ให้บันเทิงยินดีในธรรม เป็นการให้แสงสว่างแก่ชาวโลก ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้บำเพ็ญกรณียกิจนี้ โดยมีวัตถุประสงค์อันจะได้เห็นจากพระพุทธพจน์ในครั้งแรกที่ส่งสาวกออกไปประกาศพระศาสนาว่า


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นจากบ่วงทั้งปวง แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากปวงทั้งปวง พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลกเอประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออยู่ได้ไปรวมทางเดียวกัน 2 รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (พุทธสาสนา) พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์…” สุขแก่คนเป็นอันมาก


1.6 ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา


1. พระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติอันเป็นสายกลาง หลักปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นหลักดำเนิชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสุข เพื่อความสะอาด สว่าง ของชีวิต


2. พระพุทธศาสนายึดหลักพึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทกรรมวาท (สอนว่าบุคคลจะดีหรือชั่วอยู่ที่การกระทำ) กิริยวาท (สอนให้ทำกิจต่างๆ ด้วยตนเอง) และวิริยวาท (สอนให้ทำกิจด้วยความพากเพียรพยายาม) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการร้องขออ้อนวอน หวังพึ่งโชคชะตา หรืออำนาจลึกลับอันเลื่อนลอย แต่สั่งสอนให้ดำเนินชีวิตด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตั้งแต่บัดนี้ ให้คิดพิจารณาปัจจุบันว่า บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดีหรือชั่ว เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ หากปัจจุบันได้ประกอบกรรมดีอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงอนาคต เพราะโดยกฎธรรมชาติ หรือกฎแห่งกรรม ผลย่อมเกิดจากเหตุที่บุคคลย่อมทำไว้แล้ว


3. พระพุทธศาสนามีลักษณะเป็นเหตุผลนิยม


โดยทั่วไปศาสนาทั้งหลายตั้งอยู่ได้ด้วยหลักศรัทธา คือ ความเชื่อ และความจงรักภักดีของศาสนิกชน พระพุทธศาสนาก็สอนเรื่องศรัทธา แต่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเป็นศรัทธาที่มีพื้นฐานมาจากเหตุผล ให้คิดพิจารณาเหตุผลให้ดีเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ ไม่เป็นคนเชื่อง่ายหรือเชื่ออย่างมงาย คือต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาเสมอ ในที่ใดที่พระพุทธศาสนาทรงแสดงศรัทธา ที่นั้นทรงแสดงปัญญากำกับเอาไว้เพื่อเน้นให้เห็นว่า ความเชื่อต้องประกอบด้วยเหตุผลและในคุณธรรมสองอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญปัญญาว่าเป็นเลิศ


หลักฐานที่แสดงว่า พระพุทธศาสนามีลักษณะเป็นเหตุผลนิยม คือ หลักความเชื่อ 10 ประการ ในลากามสูตร ซึ่งได้แสดงไว้แล้วโดยละเอียดในบทว่าด้วยไตรสิกขา ข้อที่ว่าด้วยปัญญา


4. พระพุทธศาสนามีลักษณะเป็นอเทวนิยม


ศาสนาที่มีผู้นับถืออยู่ในปัจจุบัน (Living Religions) 11 ศาสนา แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังกล่าวไว้แล้วในบทนำ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธอำนาจเทพเจ้า พระพุทธเจ้าทรงย้ำให้เห็นความสำคัญของมนุษย์ว่า เป็นผู้ลิขิตชีวิตเอง เป็นกรรมลิขิต เป็นผู้สร้างสุขทุกข์ให้แก่ตนเอง ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดที่จะดลบันดาล สุข ทุกข์ให้แก่มนุษย์ได้


5. พระพุทธศาสนามีลักษณะเป็นประชาธิปไตย


สมัยพุทธกาล อินเดียแบ่งมนุษย์เป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพทศย์ ศูทร มีข้อห้ามระหว่างวรรณะมากมาย เช่น ห้ามกินร่วมกัน อยู่ร่วมกัน เรียนร่วมกัน ต่างวรรณะกันแต่งงานกันไม่ได้ วรรณะสูงรังเกียจเหยียดหยามวรรณะต่ำ ทุกคนต้องปฏิบัติตามข้อห้ามในเรื่องวรรณะอย่างเคร่งครัด คนจะดีจะชั่วก็อยู่ที่วรรณะนี่เอง หากมีวรรณะสูง บริสุทธิ์ ไม่ปะปนกับวรรณะอื่นทางสายโลหิตทั้งฝ่ายบิดาและมารดาก็ถือว่าเกิดมาดี เป็นคนบริสุทธิ์ เป็นชั้นสูง ควรแก่การนับถือยกย่อง


6. พระพุทธศาสนามีลักษณะเป็นมนุษย์นิยม


ลัทธิศาสนาอื่นๆ ในอินเดียต่างก็สนใจ สั่งสอนเรื่องเทพเจ้า หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มีอยู่นิรันดร สนใจในปัญหาอภิปรัชญาอันลึกซึ้งว่า อะไรคือความเป็นจริง สสารเป็นสิ่งแท้จริง หรือจิตเป็นสิ่งแท้จริง มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานมีจิตวิญญาณหรือไม่? ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่? ถ้าเกิดอีกอะไรไปเกิด? โลกเกิดจากอะไร? โลกเป็นสิ่งนิรันดรหรือไม่ ฯลฯ พระพุทะศาสนาไม่สนใจในปัญหาเหล่านี้ เพราะถือว่าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์และเพื่อไม่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ แต่สนใจเรื่องทุกข์ สุข ของมนุษย์


7. พระพุทธศาสนาไม่มีการล้างบาป


ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีหลักความเชื่อว่า ผู้มีบาปต้องไปลอยบาป หรืออาบน้ำชำระบาปในแม่น้ำคงคา หรือในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เมื่อคนสิ้นชีวิต เผาศพแล้วให้นำกระดูกและขี้เถ้าที่เหลือโปรยลงสู่แม่น้ำคงคา วิญญาณของผู้นั้นก็จะได้บังเกิดในสรวงสวรรค์ นอกจากนี้ศาสนาในประเภทเทวนิยมอื่นๆ ก็มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการสารภาพบาปและการล้างบาป แต่ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธเรื่องการลอยบาป การสารภาพบาป และการล้างบาปไว้ในวัตถูปมสูตรว่า คนชั่วมีกรรมดำ แม้จะไปสู่แม่น้ำเป็นนิตย์ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำเหล่านั้นจะช่วยอะไรได้จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้าให้บริสุทธิ์ไม่ได้ การรักษาศีล การมีความประพฤติดี ย่อมทำบุคคลให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบตนด้วยธรรมวินัยนี้ ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ มีศรัทธาความเชื่อตามเหตุผล ไม่ตระหนี่ท่านก็ไม่ต้องไปสู้แม่น้ำแห่งใดเลย


จากพระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า ความดีงาม ความบริสุทธิ์ของบุคคลมิได้อยู่ที่ความสะอาดภายนอก หรือการชำระล้างบาปเมื่อมีบาป แต่ให้ใช้วิธีชำระล้างจิตใจ ชำระล้างความประพฤติที่ไมดีไม่งามออกเสีย ถ้าเชื่อว่าน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สมารถล้างบาปได้จริง สัตว์น้ำทั้งหลายทีอยู่ในแม่น้ำนั้นก็คงจะมีโอกาสบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่ามนุษย์หลายเท่า เพราะสัตว์เหล่านั้นได้อาศัยน้ำนั้นล้างบาปอยู่ตลอดชีวิต ความดีความชั่ว ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์จึงเป็นของเฉพาะตนบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นไม่สามารถดลบันดาลหรือทำแทนชำระล้างแทนกันได้


8. พระพุทธศาสนาไม่มีการถือฤกษ์ยาม


โดยทั่วไปชาวชมพูทวีป มีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เรื่องโชคชะตา และการหมุนของดวงดาวจักรราศีต่างๆ ว่าเกี่ยวข้องกับมนุษย์ มีอิทธิพลเหนือมนุษย์ พระพุทธศาสนาได้ปฏิเสธเรื่องนี้ถือว่าความเชื่อเรื่องนั้นเป็นความเชื่อที่งมงาย โดยเน้นให้เห็นว่า ฤกษ์ยาม โชคชะตาของมนุษย์อยู่ที่การกระทำ ละความประพฤติของแต่ละคน หากกระทำดีประพฤติดี ก็ถือว่าฤกษ์ดี ยามดี หากประพฤติชั่วก็ถือว่าฤกษ์เสีย ยามเสีย โดยพุทธองค์ตรัสไว้ใน สุปุพพัณหสูตร ว่า


สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นถือว่าเป็นฤกษ์ดี สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น

และตรัสว่า ผู้ใดมัวถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์จะผ่านพ้นบุคคลผู้โง่เขลานั้นไปเสียประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาว และจักรราศีจะทำอะไรให้ได้


พระพุทธพจน์นี้แสดงว่า การทำความดีไม่ว่าเวลาใด พระพุทธศาสนาถือว่า เป็นฤกษ์ดี ยามดี โชคดีเวลานั้น ในทางตรงกันข้าม การทำความชั่วไม่ว่าเวลาใดก็เป็นฤกษ์ชั่ว ยามชั่วและโชคร้ายในเวลานั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น