วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

อะไรคือมูลเหตุแห่งการเสื่อมสูญของพุทธศาสนาในอินเดีย

"ศาสนาพุทธหายไปจากอินเดียได้อย่างไร?"





คำตอบจากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า" สรุปออกมาให้ทราบกัน..


..ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ที่ตั้งของเมืองมถุรา ซึ่งในวรรณกรรมมหาภารตะ กล่าวว่าเป็นบ้านเกิดของพระกฤษณะ




ที่นี่จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูเดินทางมาแสวงบุญกันเป็นประจำ พวกเขาเคารพนับถือและผูกพันกับพระกฤษณะอย่างมาก เพราะเป็นทั้งวีรบุรุษและเทพเจ้าผู้ทรงความยุติธรรมในมหาภารตะที่ชาวอินเดียทุกคนรู้จักอย่างดี ส่วนคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์ที่อ่านได้เฉพาะคนในวรรณะพราหมณ์เท่านั้น




ลัทธิวิษณุอวตารเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้น




ในคัมภีร์พระเวทกล่าวไว้ว่า เมื่อย่างเข้าสู่กลียุค พระวิษณุได้อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อสอน




"อธรรม" แก่เหล่าอสูร เป็นการชักพาศัตรูของเทพยดาให้หลงผิดและออกไปเสียจากศาสนาฮินดู




*เหตุนี้ถ้าใครหันมานับถือศาสนาพุทธจะถูกมองว่าเป็นพวกอสูรหรือศัตรูของเทพเจ้า*


ในยุคนั้นได้เกิดการเผชิญหน้ากันทางความคิดเพื่อแย่งชิงมวลชนให้เข้ามานับถือลัทธิ ศาสนาของตน แม้แต่ชาวพุทธเองก็ได้ตอบโต้ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว โดยสร้างรูปพระโพธิสัตว์ทำท่าหยาบหยามรูปเทพเจ้าและศาสดาต่างลัทธิ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่ใช่หลักคิดของพุทธที่ยึดถือในเรื่องเหตุผลและคุณธรรม




ศาสนาพุทธเองนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคมหายาน ก็ได้แตกเป็นนิกายต่างๆ อีกมากมาย พระสงฆ์ต่างมุ่งศึกษาคิดค้นหลักปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน มากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่พระธรรมเคยเป็นแนวปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง ก็กลายเป็นของยากสำหรับสามัญชน




*กลายเป็นเรื่องของนักปราชญ์ในวัด ชาวบ้านทั่วไปไม่เข้าใจว่าพุทธศาสนาคืออะไร?*




จนกล่าวกันว่าความรุ่งโรจน์ของมหาวิหารพุทธในเมืองใหญ่ได้ดึงดูดให้พระสงฆ์เข้าศึกษาพุทธปรัชญากันมากมายจนว่างเว้นการออกเผยแผ่พระธรรมสู่ชาวบ้านในชนบท




พอพุทธศตวรรษที่ 14 เกิดลัทธิตันตระที่ค่อยๆ ซึมซับเข้าสู่แนวคิดของพุทธมหายานมาเรื่อยๆ จนในที่สุดพุทธศาสนานิกายตันตระยานก็ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มตัว ในพระอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์ปาละ




พุทธตันตรยานถือว่า "ตัณหา" เป็นเพียงสิ่งลวง เป็นมายา การปลดเปลื้องตัวเองให้พ้นจากอำนาจของตัณหา ไม่ใช่การทำลาย แต่จะต้องเปลี่ยนให้เป็นความรู้แจ้งเห็นจริง คือ ปัญญา จึงสามารถหลุดพ้นจากบ่วงตัณหาได้




มาถึงเวลานี้ "ศาสนาพุทธ" และ "ศาสนาฮินดู" ก็ละม้ายคล้ายคลึงกันเข้าไปทุกที โดยเฉพาะเมื่อพุทธนำหลักตันตระมาใช้เช่นเดียวกับฮินดูตันตระ


แม้ว่า "พุทธตันตระ" จะมีจุดมุ่งหมายแท้จริงอยู่ที่การบรรลุโพธิญาณเหมือนพุทธนิกายอื่น แต่ความซับซ้อน สูงส่ง ของหลักปรัชญาอาจทำให้คนส่วนใหญ่สัมผัสได้เพียงเปลือกนอก จนไขว่เขวไปจากจุดมุ่งหมายเดิมของพระพุทธเจ้า




จนกล่าวกันว่าการที่พุทธบริษัทในสมัยนั้นให้ความสำคัญกับเวทมนตร์คาถาและพิธีกรรมมากจนเกินไป จนไม่ใส่ใจแก่นแท้ของคำสอน ทำให้ศาสนาพุทธเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมที่สุดของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย




หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของศาสนาพุทธในอินเดีย เป็นเหตุให้ประทีปแห่งพุทธศาสนาอ่อนแสงลงอย่างมาก จนไม่อาจต้านทานแรงลมใดๆ

กระทั่งเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 18 นักรบชาวเติร์กก็ได้ยกทัพเข้ามาถึงอินเดียตะวันออก และทำลายอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำคงคา ตลอดจนวัดวาอาราม มหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างสิ้นซาก




*ศาสนาพุทธก็ถึงคราวดับสูญไปจากอินเดียในที่สุด


มูลเหตุของการเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาในอินเดียมีหลายทัศนะจากท่านผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อพิจารณาทัศนะเหล่านั้นแล้วก็ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น เหตุปัจจัยที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมสูญไปจากมาตุภูมิคงเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปคล้ายนำเซาะหิน ไม่ใช้แบบน้ำเซาะทราย พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวถึงสาเหตุไว้หลายประการ จึงขอนำมากล่าวโดยย่อดังนี้



1. คณะสงฆ์อ่อนแอเสื่อมโทรมลง


พระสงฆ์แต่เดิมปฏิบัตินตามธรรมวินัยทำให้ประชาชนทุกชนชั้นเลื่อมใส พากันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรือง แต่ต่อมาในรุ่นหลังๆ หลงมัวเมาในลาภสักการะ ลืมหน้าที่ที่แท้จริง เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้


- ติดถิ่น ติดที่ เพลิดเพลินในลาภสักการะและความสุขสบาย นึกถึงแต่เรื่องของตนเอง และปัจจัยเครื่องอาศัยของตนเอง ทอดทิ้งหน้าที่ต่อประชาชน


- วุ่นวายอยู่กับพิธีกรรม และงานฉลองอันสนุกสนานต่างๆ จนความเขาใจเรื่องบุญกุศลแคบลงเป็นเรื่องรับเข้าหรือเอาฝ่ายเดียว


- ศึกษาเล่าเรียนลึกซึ้งลงไปแล้ว มัวหลงเพลินกับการถกเถียงปัญหาปรัชญาประเภท อันตคาหิกทิฏฐิ จนลืมศาสนกิจสามัญในระหว่างพุทธบริษัท


- มีความประพฤติปฏิบติย่อหย่อนลง เพราะเพลิดเพลินในความสุขสบาย และแตกสามัคคีแยกเป็นพวกเป็นนิกาย เพราะถือรั้นรังเกียจกันตกลงกันไม่ได้


- เห็นแก่ความง่าย ตามใจตนเอง ตามใจคน ปล่อยให้เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องลึกลับอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ พอกพูนมากขึ้น ตนเองก็เพลิดเพลินมัวเมาในเรื่องเหล่านั้น และทำให้ประชาชนจมดิ่งลง แทนที่จะมีเหตุผลยิ่งขึ้น เข้มแข็ง มีปัญญาและพึ่งตนได้มากขึ้น ก็กลับอ่อนแอต้องคอยหวังพึ่งปัจจัยภายนอกมากยิ่งขึ้น และทำให้พระพุทธศาสนามีสภาพคล้ายคลึงกับศาสนาอื่นๆ มากมาย เช่น แปรรูปไปเป็น ตันตระ แบบเสื่อมโทรม จนเหมือนตันตระของฮินดู และหมดลักษณะพิเศษของตนเอง


2. ศาสนาฮินดูต่อต้านบีบคั้น


คำสอนของพระพุทธศาสนาขัดแย้งและทำลายความเชื่อถือเดิมในศาสนาพราหมณ์มากมายหลายอย่าง เป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในสมัยต่อมา พยายามหาทางลิดรอนพระพุทธศาสนาโดยวิธีต่างๆ ข้อที่ควรศึกษาในเรื่องนี้มีดังนี้


- พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกคนมีความเสมอภาค ควรมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดด้วย วรรณะ และให้ทุกคนศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัยเหมือนกันหมด คำสอนนี้กระทบกระเทือนฐานะของพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุด มีสิทธิพิเศษต่างๆ และเคยผูกขาดการศึกษาไว้ โดยปกติพราหมณ์เป็นคนชั้นสูง มีอำนาจและอิทธิพลมาก เช่น เป็นปุโรหิตของพระราชา เป็นต้น แต่พระพุทธศาสนาแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ตราบใดที่ประชาชนยังมีศรัทธามั่นคง พระสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนและทำหน้าที่ต่อประชาชนอย่างถูกต้อง พวกพราหมณ์ก็ไม่กล้าทำอันตราย หรือทำก็ไม่สำเร็จ ยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์อยู่ด้วย พระพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคง จะสังเกตเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะถูกพระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา อุปถัมภ์ทุกๆ ศาสนา เช่น พระเจ้าอโศก กนิษกะ หรรษวรรธนะ เป็นต้น แต่พราหมณ์จะไม่พอใจในการอุปภัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น ปุษยมิตร ทำลายวงศ์กษัตริย์พุทธขึ้นครองราชย์ แล้วกำจัดพุทธศาสนา พวกพราหมณ์ข้าราชการของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ริษยาการทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ถึงกับวางแผนปลงพระชนม์เป็นต้น ในสมัยที่พราหมณ์ขึ้นเป็นกษัตริย์แม้จะไม่กล้ากำจัดพระพุทธศาสนา แต่ก็ทำให้พระพุทธศาสนาต้องยอมประนีประนอมคำสอนกับฮินดู จนกลายเป็นเหมือนกันและถูกกลืนไปในที่สุด


- พวกพราหมณ์ใช้ศาสนาฮินดูเป็นหลักของลัทธิชาตินิยมโดยผนวกความเป็นคนอินเดียเข้ากับความเป็นฮินดู ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียเป็นพุทธมามกะ และมักจะเป็นเชื้อสายชนต่างชาติ ที่เห็นชัดเจนคือ พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นชนเชื้อสายมงโกลในเผ่ากุษาณ ชาวอินเดียที่จะกำจัดราชวงศ์กุษาณในสมัยต่อมา ใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องรวมกำลัง และการที่กษัตริย์วงศ์นี้นับถือพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระพุทธศาสนาจึงถูกเพ่งมองในฐานะศาสนาของคนต่างชาติด้วย แม้ในเรื่องนี้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นกัน มีปราชญ์สันนิษฐานว่า พระองค์มีพระมารดาเป็นชนชาติกรีก พวกพราหมณได้พยายามกำจัดราชวงศ์นี้พร้อมทั้งพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกแม้จะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ไม่ปรากฏเกียรติคุณในประวัติศาสตร์ของชาวฮินดูเลย ต่อเมื่อชาวยุโรปมาขุดค้นศึกษา พระนามของพระเจ้าอโศกจึงปรากฏขึ้นมา และชาวอินเดียเองจึงพลอยยอมรับ นอกจากนี้ แม้พระพุทธเจ้าเองก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชนเผ่ามงโกล ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของพราหมณ์


- ปราชญ์ฮินดูพยายามนำเอาหลักการในพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงหลักธรรมของตนเองให้ออกรูปใหม่บ้าง นำไปทำตามอย่างบ้าง เพื่อให้มีกำลังเทียบเคียงกันได้ และให้ดูคล้ายคลึงเหมือนกัน กลืนกันจนไม่จำเป็นจะต้องมีพระพุทธศาสนาอยู่ต่างหาก และเมื่อฝ่ายพุทธศาสนาอ่อนแอก็กลืนได้ง่าย เช่นสังกราจารย์ นำหลักในพุทธปรัชญาไปแปลงรูปเป็นปรัชญาเวทานตะของตน และสร้างวัดฮินดู ตั้งคณะนักบวชสันยาสีเลียนแบบคณะสงฆ์ เป็นต้น แม้องค์พระพุทธเจ้าเอง ก็กลายเป็นอวตารของพระนารายณ์ไป

3. ชนชาติมุสลิมเข้ารุกรานและทำลาย


ในระยะที่คณะสงฆ์กำลังอ่อนแอลงนั้น ก็พอดีกองทัพชนชาติอาหรับและเตอร์กเข้ารุกรานเป็นระลอกๆ และทำลายพุทธศาสนาลงจนหมด เช่น ทำลายมหาวิทยาลัยวลภีลงในราว พ.ศ. 1350-1400 และทำลายหมดทุกแห่งใน พ.ศ. 170 เป็นต้น โดยวิธี


- ฆ่าพระสงฆ์ เช่นที่นาลันทา นักประวัติศาสตร์มุสลิมเองบันทึกไว้ว่าพระถูกฆ่าประมาณหมื่นรูป คือไม่ให้เหลือเลยทุกแห่ง


- ทำลายสถาบันและสิ่งก่อสร้างโดยเผาผลาญวัดวาอารามและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่ง บางแห่งแม้แต่ซากก็ไม่ให้เหลือ


- เผาคัมภีร์และตำรับตำราพระพุทธศาสนา เช่น ที่หอสมุดของนาลันทาเผาอยู่แรมเดือน


การทำลายครั้งนี้ทำให้คณะสงฆ์สลายตัว และตั้งไม่ติดอีกเลย ระบบของพระพุทธศาสนานั้นดำรงอยู่ในรูปสถาบัน ซึ่งปันเป็นพุทธบริษัท 2 ฝ่าย ปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต่อกันโดยฝ่ายพระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจิตใจ มีความเป็นอยู่และที่อยู่ต่างหากชัดเจน กำจัดได้ง่าย เมื่อหมดพระสงฆ์ หมดผู้นำ พุทธศาสนิกก็ถูกบังคับบ้าง ถูกชักจูงบ้าง กลายเป็นมุสลิมหรือฮินดูไป ฝ่ายฮินดูถึงจะถูกกำจัดพร้อมกัน แต่เพราะนักบวชฮินดูมีหลายแบบ บางพวกอยู่ตามบ้านมีครอบครัว มีความเป็นอยู่ไม่ต่างจากคนทั่วไป ก็เหลือรอดอยู่ได้ง่าย ขณะนั้นหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนากับฮินดู คล้ายคลึงกัน หรือผสมผสานกันมากแล้ว เมื่อฝ่ายฮินดูเหลืออยู่ ก็ชักไปเข้าฮินดูโดยง่ายไม่มีใครขัดขวาง วัดพุทธศาสนาที่หลงเหลืออยู่ก็ถูกพราหมณ์เข้าครองกลายเป็นวัดฮินดู ชาวพุทธที่เหลือก็ถูกกลืนช้าๆ เขาสู่สังคมแห่งวรรณะของฮินดู (พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย, โรงพิมพ์ธรรมสภา, 2540 (358-364)




กรุณา กุศลาศัย ได้กล่าวถึงสาเหตุการเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาในอินเดียไว้ดังนี้


ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนว่า สถาบันหรือขนบธรรมเนียมใด ๆ ก็ตามซึ่งในระยะเริ่มต้น อาจจะมีคุณูปการหรือประโยชน์ต่อสังคม แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป หากสถาบันหรือขนบธรรมเนียมนั้น ๆ ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลเทศะ สถาบันหรือขนบธรรมเนียมดังกล่าว อาจกลายเป็นอุปสรรคสิ่งขัดขวางต่อการเจริญก้าวหน้าของสังคมนั้นได้


ความจริงข้อนี้ ประวัติศาสตร์มีนิทัศน์อุทาหรณ์ให้เห็นอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น การแบ่งอาชีพกันทำเพื่อทักษะและความชำนาญ (การแบ่งคนออกเป็นวรรณะในสังคมอินเดียโบราณ) การประกอบพิธีทางศาสนา การเชื่อถือพระเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม) ของชาวกรีกโรมันและชาวอียิปต์โบราณ การยกย่องระบบกษัตริย์ให้เป็นสมมติเทพ การเสกคาถาอาคมและปลุกผีสางเทวดา พฤติกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสังคมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป พฤติกรรมดังกล่าวกลับเป็นอุปสรรคสิ่งกีดขวาง ที่กล่าวมานี้ฉันใด พิธีกรรมและวัตรปฏิบัติทางศาสนาจำนวนไม่น้อย ก็น่าจะนำมาเปรียบเทียบได้ฉันนั้น






1.การแยกตนไปดำรงชีวิตต่างหากของสงฆ์


ในกรณีของพุทธศาสนานั้น การแยกตนไปดำรงชีวิตต่างหากของสงฆ์ เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง แห่งการอ่อนกำลังของพุทธศาสนา จริงอยู่ในระยะแรก ๆ แห่งการก่อตั้ง การที่สงฆ์แยกจากสังคมคฤหัสถ์ไปดำเนินชีวิตต่างหาก เป็นการรักษาความมีระเบียบ ความบริสุทธิ์ผ่องใส และเป็นการส่งเสริมการศึกษาและความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป สงฆ์ได้หลงลืมวัตถุประสงค์เดิมตามคำสอนของพุทธองค์ สงฆ์หันไปหมกมุ่นอยู่กับกิจธุระส่วนตัวเป็นสำคัญ สงฆ์ทอดทิ้งไม่ดูแลการศึกษา และให้การอบรมด้านศีลธรรม และสติปัญญาแก่ประชาชน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ในระยะแรก ๆ แห่งการก่อตั้งสงฆ์โดยพุทธานุมัตินั้น สงฆ์ได้บำเพ็ญกรณียกิจ ในฐานะเป็นผู้ให้การศึกษา ฝึกอบรมศีลธรรม และพัฒนาจิตวิญญาณ แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แต่ในกาลเวลาต่อมาอุดมการณ์ด้านนี้ของสงฆ์ได้เลือนรางจางหายไป พุทธศาสนามีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการด้านวัฒนธรรมของอินเดีย และของหลายประเทศในทวีปเอเชีย พุทธศาสนาเป็นพลังดลใจในศิลปศาสตร์นานาแขนงทั่วเอเชีย แต่ในประเทศอินเดียเองด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว พุทธศาสนาได้สูญเสียฐานะความเป็นผู้นำทางศาสนา ไปอย่างน่าเสียดาย สัมฤทธิผลของศาสนาใดศาสนาหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับประชาชนผู้เป็นบริษัทบริวารของศาสนานั้นด้วย ศาสนาชิน (Jain) ซึ่งมีคำสอนและวัตรปฏิบัติคล้ายคลึงกับพุทธศาสนาอยู่หลายอย่างหลายประการ มีการจัดตั้งในสังคมฆราวาส (คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวช) ด้วยเหตุนี้ ศาสนาชินจึงยังคงดำรงสถานะเป็นศาสนาหนึ่ง ในประเทศอินเดียได้ตราบจนทุกวันนี้ ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ สังคมฆราวาสกับสังคมนักบวชหาได้แยกกันไม่ ทั้งสองเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดในอินเดียศาสนาเดียวที่ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติทางสังคม พุทธศาสนาไม่มีบทบัญญัติเป็นกิจจะลักษณะในเรื่องเกี่ยวกับการเกิด การตาย หรือการแต่งงานของพุทธศาสนิกชน พุทธศาสนาให้เสรีภาพในกิจกรรมเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ โดยถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอินเดียก็คือ มหาเศรษฐีอนาถบิณฑิก ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากคนสำคัญแห่งนครสาวัตถี ได้ยกธิดาคนหัวปีชื่อมหาสุภัททา ให้แก่คหบดีแห่งเมืองอุคคนครผู้นับถือศาสนาชิน (ในภาษาบาลีมีชื่อว่า นิคัณฐนาถปุตตะ) ความมีใจกว้างหรือการให้เสรีภาพแก่ศาสนิกเช่นนี้ ในทัศนะของปราชญ์บางท่าน (เช่น นายนลินากฺษ ทัตต) เห็นว่า แม้ในระยะเริ่มแรกแห่งการก่อตั้งและเผยแผ่จะเป็นผลดีแก่พุทธศาสนา แต่ในกาลไกลแล้วเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เพราะทำให้วัตรปฏิบัติของศาสนิกหย่อนยาน เปิดโอกาสให้ผู้มีทัศนะและความเชื่อถือแปลกแยกเข้าไปปะปนและบ่อนทำลายเอกภาพ






2. การวางตนไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมของพุทธศาสนา


การวางตนไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคม ของพุทธศาสนา ในระยะเริ่มแรกนั้น เป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนา เจริญแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะประชาชนมีความพอใจที่พุทธศาสนาให้เสรีภาพ ไม่แทรกแซงเปลี่ยนแปลงหรือเลิกล้มจารีตประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่เดิม พระพุทธองค์เป็นปัญญาชน เป็นนักคิด พระองค์มาจากราชตระกูลที่ดำรงอยู่ในจารีตประเพณี ตลอดจนความเชื่อถือตามระบบของสังคมอันมีพราหมณ์เป็นผู้นำมาแต่โบราณกาล ในฐานะที่เป็นปัญญาชน นักคิด พระองค์ทรงสะท้อนพระทัยเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็น “นิมิต ๔” มี คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช อันเป็นเหตุให้พระองค์ทรงโทมนัสถึงกับตัดสินพระทัยออกบรรพชา ทั้งนี้เพื่อทรงค้นหาวิธีที่คนเราจะได้พบอิสระจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเหตุนี้แม้เมื่อทรงบรรพชาแล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงข้องเกี่ยวกับความเชื่อถือหรือจารีตประเพณีของสังคม พระองค์ทรงปล่อยให้ความเชื่อถือหรือวัตรปฏิบัตรเหล่านี้เป็นไปตามสภาพเดิม พระองค์ทรงมุ่งมั่นอยู่กับการค้นหา “สัจธรรม” ที่ทำอย่างไรคนเราจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ในคำสอนของพระองค์ที่มีปรากฏในพระสูตรต่าง ๆ พระองค์ได้ทรงห้ามมิให้เวไนยยนิกรเสียเวลาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคาดคะเนในเรื่องที่ไร้ประโยชน์ ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น (นิพพาน) เช่น ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด ๑๐ ประการ (อันตคาหิกทิฏฐิ) ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เป็นต้น นายนลินากฺษ ทัตต ปราชญ์ชาวอินเดียผู้รจนาตำราหลายเล่มเกี่ยวกับพุทธศาสนาในอินเดีย ได้เขียนแสดงความเห็นไว้ว่า การวางตนไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการทางสังคมของพุทธศาสนาในอินเดียในระยะแรก ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์และสานุศิษย์ผู้ปรีชาญาณของพระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น เป็นผลดีแก่การเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างแน่นอน แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป และเมื่อไม่มีพระพุทธองค์ตลอดจนสานุศิษย์ผู้ปรีชาญาณเป็นผู้นำและให้แสงสว่าง ลัทธิความเชื่อตลอดจนพิธีกรรมเก่า ๆ ของพราหมณ์ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล จึงกลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีก


ด้วยเหตุนี้ภายในระยะเวลามิช้ามินานหลังจากพุทธปรินิพพาน และหลังจากอัครสาวกองค์สำคัญ ๆ ผู้เปรื่องปราดได้ล่วงลับไปแล้ว ประชาชนต่างก็เริ่มลืมเลือนสารัตถะแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า และต่างกลับไม่เชื่อถือและประพฤติปฏิบัติตามลัทธิคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต่างกลับไปเชื่อถือและประพฤติปฏิบัติตามลัทธิคำสอนของพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงคัดค้านและต้องการเปลี่ยนแปลงตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ กล่าวโดยย่อก็คือ แก่นแห่งศาสนาพุทธ ได้ถูกกระพี้แห่งศาสนาพราหมณ์ ปกปิด หรือบดบังไว้ อย่างแทบจะมองไม่เห็น โดยเฉพาะจากสามัญชนคนธรรมดา


พฤติการณ์ทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่พุทธศาสนาได้แผ่ไปถึง เช่นในประเทศจีน ทิเบต เนปาล พม่า สยาม ลังกา ญี่ปุ่น ตลอดจนเกาหลี มองโกเลีย และอินโดนีเซีย ในทุกประเทศที่ได้กล่าวนามมานี้ เป็นความจริงที่พุทธศาสนาได้เข้าไปประดิษฐานอยู่เป็นเวลาช้านาน ทั้งได้รับความเทิดทูนสักการะอย่างสูงจากประชาชน แต่ในขณะเดียวกันอิทธิพลของวัฒนธรรม ตลอดจนลัทธิความเชื่อถือ เดิมของท้องถิ่นก็ได้เข้าไปผสมผสานปนเปกับ คำสอนอันแท้จริงของพุทธศาสนา อย่างแทบจะแยกกันไม่ออก


กล่าวโดยย่อก็คือ “ปรมัตถธรรม” ที่พระโคดมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ ได้เลือนลางจางหายจนแทบจะสูญความหมาย ในอินเดีย โดยเฉพาะแล้ว ภายในระยะเวลาไม่กี่ร้อยปีหลังจากพุทธศาสนา แม้ในถิ่นที่พุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองที่สุดมาแล้ว เช่นในรัฐพิหาร อุตรประเทศ และเบงกอล ก็ตาม

3. ความตกต่ำทางภูมิปัญญาของสงฆ์


สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมอิทธิพลน่าจะได้แก่ ความตกต่ำทางภูมิปัญญาของบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกในคณะภิกษุสงฆ์ ตราบใดที่คณะสงฆ์มีสมาชิกที่ทรงความรู้ความสามารถ เป็นประทีปทางปัญญาให้แก่ปวงชน ตราบนั้นพุทธศาสนาก็อยู่ในฐานะสูงส่ง มีราชามหากษัตริย์ตลอดจนประชาชนคนธรรมดาประกาศตน เป็นสมาชิกมากมาย แต่หลังจากพุทธปรินิพพานไม่นานก็ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ได้มีความหย่อนยานเกิดขึ้นทั้งในทางระดับภูมิปัญญา และในวัตรปฏิบัติของสงฆ์ จนต้องมีการสังคายนากันเป็นระยะ ๆ ตลอดมา


ในอินเดียสมัยโบราณมีการโต้วาที (ศาสตรารฺถ) กันในเรื่องของศาสนาที่เป็นสาธารณะ โดยเปิดให้ประชาชนทุกลัทธิความเชื่อถือเข้าฟังได้ ผลของการโต้วาทีมีอิทธิพลของความเชื่อของคนในยุคนั้นมาก ปรากฏว่าในการโต้วาทีเหล่านั้น ปราชญ์ฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู เช่น ท่านกุมาริละ และท่านศังกราจารย์ ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้พิชิต” ปราชญ์ฝ่ายพุทธ




4. การปรากฏของลัทธิตันตระ


ลัทธิตันตระเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อมาของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้กล่าวถึงมาบ้างแล้วในตอนต้น เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก มีอาทิในประเทศอินเดีย อียิปต์ ประเทศจีนยุคกลาง ในตะวันออกกลาง ยุโรป สหรัฐอเมริกา (ล่าสุดในญี่ปุ่น ได้แก่กรณีโอมชินริเกียว - Aum Shinrikyo ซึ่งได้สร้างความหายนะทั้งในชีวิตและทรัพย์สินแก่ชาวญี่ปุ่นอย่างมหาศาล) ชี้ให้เราเห็นว่า ความเชื่อลัทธิทางศาสนานั้น มีอิทธิพลอย่างมากมายต่อพฤติกรรมในชีวิตของมนุษย์ พิธีกรรมหรือวัตรปฏิบัติ อันเกิดจากความเชื่อทางศาสนามากมายหลายกรณี ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เกิดจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อันดีงาม เป็นบุญกุศล แต่พอกาลเวลาล่วงเลยไป กิเลสของคนกลับแปรเปลี่ยนให้พิธีกรรมหรือ วัตรปฏิบัติเหล่านั้น หันเหไปในทางที่เลวทรามต่ำช้าสุดที่จะพรรณา


อุปมาที่กล่าวมานี้ฉันใด อุปไมยก็ได้แก่ลัทธิตันตระ อันเป็น วิวัฒนาการขั้นต่อมาในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อาจกล่าวได้ว่า ตันตระเป็นลัทธิความเชื่อและวัตรปฏิบัติที่นำ พุทธศาสนาไปสู่ความหายนะขั้นสุดท้ายในประเทศอินเดีย ตันตระประกอบด้วยคำสอนหลัก ๕ ประการ ที่มีชื่อว่า “๕ ม” มี (๑) มัทยะ - เหล้า (๒) มางสะ - เนื้อ (๓) มัตสยะ - ปลา (๔) มุทรา - ท่าทาง (๕) ไมถุน - การเสพสังวาสผู้ที่เชื่อในหลักคำสอนของตันตระจะต้องใช้ “๕ ม” นี้ประกอบ การบูชากราบไหว้ เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการที่จะเข้าใจว่าตันตระคือ อะไร และทำไมพุทธศาสนาในอินเดียจึงถึงซึ่งกาลอวสานด้วยตันตระ สมองของมนุษย์นั้นว่ากันว่าเป็นเลิศประเสริฐสุดในบรรดาสัตว์ ทุกชนิดที่มีให้เห็นในโลก แต่ประวัติศาสตร์ก็มีนิทัศน์อุทาหรณ์ให้เราต้องยอมรับและเชื่อว่า ก็สมองของมนุษย์นี่แหละที่ได้สร้างความชั่วช้าสามานย์ ตลอดจนความพินาศวอดวายที่เลวร้ายที่สุดให้แก่มนุษย์


ทุกวันนี้ “ตันตระ” ก็ยังมีให้เห็นทั่ว ๆ ไปในโลก (รวมทั้งในเมืองไทยด้วย) อาจจะมีท่านผู้อ่านอยากจะทราบว่าลัทธิตันตระชั่วร้ายอย่างไร ถึงกับทำให้พุทธศาสนาปลาสนาการไปจากอินเดียอันเป็นดินแดนถิ่นที่เกิด ผู้เขียนก็ขอตอบโดยสังเขปที่สุดว่า


ตันตระนั้นหรือคือลัทธิที่สอนให้คนเชื่อในเวทย์มนต์คาถาอาคม การทรงเจ้าเข้าผี ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างที่รวมอยู่ในไสยศาสตร์ ไสยเวท อันมีกำเนิดจากคัมภีร์อาถรรพเวทของพราหมณ์ และอยู่นอกเหนือวิสัย ของปุถุชนคนธรรมดา


อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๘ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ชาวอินเดียทั้งประเทศซึ่งเดิมเคยนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ต่างก็ตกอยู่ในความครอบงำของลัทธิตันตระอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่สามัญชนคนธรรมดาเท่านั้น หากชนชั้นสูงรวมทั้งชนชั้นผู้ปกครองด้วยก็เช่นเดียวกัน


5. ชาวพุทธถูกรุกรานประหัตประหาร


อิสลามในฐานะเป็นกำลังสำคัญทั้งในทางการเมืองและการศาสนา ได้แผ่เข้าไปในอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนต้น ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ และภายในเวลาไม่กี่ร้อยปี ก็สามารถครอบครองดินแดนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกของอินเดียไว้แทบจะทั้งหมด และครองอยู่ได้เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา


การที่อิสลามเข้าไปมีอำนาจทางอาณาจักรและศาสนจักรในอินเดียเป็นเวลาหลายร้อยปี ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามแผ่กระจาย และคลุมครอบชีวิตของชาวอินเดียอย่างลุ่มลึกและกว้างไกล ซึ่งอิทธิพลนี้ยังมีให้เห็นตราบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในอินเดียภาคเหนือ


ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของอิสลามเป็นมรสุมลูกสุดท้ายที่กระหน่ำให้ “พุทธนาวา” ลำนี้ก็อยู่ในสภาพ “ชำรุด” เต็มประดา ด้วยท้องนาวาถูกแมงกะพรุนตันตระกัดกิน เป็นรูรั่วน้ำไหลเข้าได้ จวนเจียนจะพลิกคว่ำอยู่แล้ว แต่ “มรสุม” ลูกสุดท้ายที่ทำให้พุทธศาสนาต้องพังพินาศไปจากแผ่นดินอินเดียนั้น แน่นอน คือ “อิสลาม”


ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยการยืมเอาคำพรรณนาของ พระภิกษุ ดร.อานันท์ เกาศัลยายน พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ภาษาฮินดีให้แก่ผู้เขียนตั้งแต่ชั้น ก ข ค ซึ่งปรากฏในบทเขียนของท่านชื่อ “How India Lost Buddhism?” มาเสนอท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้


“ในขณะที่ความเสื่อมทางศีลธรรมและจิตใจกำลังมาสู่ประชาชาติอินเดียดังได้พรรณนามานี้ การแบ่งแยกถือชั้นวรรณะตามศาสนาพราหมณ์ก็กระหน่ำทำให้ชีวิตสังคมอ่อนเปลี้ยลงอย่างที่สุด และในขณะที่ความ “เร้นลับ” ของลัทธิ “ตันตระ” กำลังทำให้สมองของประชาชนหมดสมรรถภาพอยู่นั้น กองทัพอันเกรียงไกรของมุสลิมก็เคลื่อนขบวนมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คล้ายกับมรสุมใหญ่ที่กำลังพัดมาเพื่อทำความสะอาดให้แก่สิ่งโสโครกทั้งหลาย บรรดาโบสถ์วิหารและทรัพย์สมบัติเครื่องบูชาอันมีค่ายวดยิ่ง ซึ่งสะสมกันไว้ตั้งร้อย ๆ ปี ได้ถูกทำลายพินาศลงด้วยน้ำมือของพวกรุกรานมุสลิม ปฏิมาของพระโพธิสัตว์และเทพยดา ทั้งหญิงชาย ได้ถูกเหวี่ยงลงจากแท่นบูชาและเผาผลาญไม่มีเหลือ ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนักรบมุสลิมผู้กระหายอำนาจและทรัพย์สมบัติเหล่านี้ “มนตร์” และพิธีกรรมต่าง ๆ ทางลัทธิ “ตันตระ” ที่เชื่อกันว่า “ขลัง” ยิ่งนักนั้นปรากฏว่าไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ บรรดา “ผู้สำเร็จ” และ “อาจารย์” องค์สำคัญ ๆ ต่างพากันยืนมือเท้างอต่อหน้ากองทัพมุสลิม ในที่สุดขณะที่พวก “ตันตระ”


(บทความโดย กรุณา กุศลาสัย)


http://www.asianamulet.com/content/26/1/




ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดีย เพราะสิ่งที่พระพุทธศาสนาสร้างขึ้นแล้วในประเทศอินเดีย ก็ยังคงอยู่ในประเทศอินเดีย ในรูปศิลปะ โบราณคดี วัฒนธรรมต่างๆ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนในด้านหลักธรรมก็เป็นเครื่องปรับปรุงขัดเกลา และเป็นแบบอย่างที่ทำให้ศาสนาฮินดูซึ่งเจริญ มาถึงปัจจุบันกลายรูปไปในทางที่ประณีตขึ้น เช่น เลิกการบูชายัญ มีหลักศีลธรรมเด่นชัดขึ้น มีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นด้วยวิธีดึงเอามาจากพระพุทธศาสนาเท่าที่เป็นประโยชน์แก่ตน ดังนี้ เป็นต้น


(พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย, โรงพิมพ์ธรรมสภา, 2540 (364)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น